ประกาศที่ 1

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ บดินทร เทพมหากุฎบุรุษยรัตนราชวิวงษ วรุต์พงษบริบิต วรขัติ
ราชนิกโรดมจาตุรันตบรมหมาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราชบรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดิน
สยาม ทรงพระราชดำริห ในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ทั่วถึงแน่นอน ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนจึงทรง
พระราชดำริหว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งเปนสมเดจพระบรมชนกนารถได้ทรง
เปนธรรมเนียมไว้แล้วแต่ก่อนนั้นทรงเหนว่าเปนของดี มีคุณประโยชน์ในแผ่นดินสยาม  ไม่ควรจะทิ้งละให้เสื่อมสูญพระราช
ประเพณี จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้พระยาศรีสุนทรโวหารพระสารสาศนพลขันธ์ หลวงสารประเสริฐเรียบเรียงเหตุ
ในราชกิจต่าง ๆ   ถวายพระเจ้าราชวรวงษเธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ   ลงพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ต่อไป    โดย
พระราชประสงค์จะให้    สืบธรรมเนียมดำรงพระราชประเพณี    ของพระบาทสมเดจพระจองเกล้าเจ้าอยู่หัวแลเพื่อจะให้  เปน
ประโยชน์แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลราษฎรทั้งปวง ที่มีความประสงค์อย่างจะทราบเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศสยามแลประเทศอื่นๆ อนึ่งการตีพิมพ์หนังสือราชกิจจา นุเบกษาครั้งนี้ จะไม่แยกเหมือน ครั้งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น เจ้าพนักงานตี พิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษา แล้วก็จำแนกแจกจ่ายให้ปันแก่ผู้ที่ต้องประสงค์คนละฉบับบ้าง สองฉบับบ้าง สามฉบับบ้าง บางที่ ผู้มีอำนารถ มาขอคนละเก้าฉบับบ้าง สิบฉบับบ้าง อย่างน้อยเพียงสี่ฉบับ ห้าฉบับบ้าง เจ้าพนักงานก็ยอมให้ไปผู้ที่ได้รับหนังสือราชกิจจานุเบกษาไปนั้นบางทีอ่านครั้งหนึ่งทิ้งเสียบ้างบางทีเกบไว้แต่ไม่ธุระทิ้ง ให้ฉีกขาดไปเสียบ้าง เพราะเห็นว่าหนังสือนั้นเปนของไดโดยง่าย แต่คราวนี้ซึ่งเจ้าพนักงาน จะลงพิมพ์หนังสือราชกิจานุเษกษาต่อไปเปนครั้งที่สองในแผ่นดินปัตยุบันนี้ จะให้ออเดือนละสี่ครั้งขึ้นค่ำหนึ่ง แรม ค่ำหนึ่ง ขึ้นเก้าค่ำ แรมเก้าค่ำ ทุกเดือนไป รวมหนังสือปีหนึ่งเปนสี่สิบแปดฉบับแต่จะขอเก็บเงินผู้ที่ได้รับหนังสือราชกิจจานุเบกษา ปีหนึ่งเปนเงินคนละแปดบาท เงินซึ่งได้เก็บมานั้น จะเอามาใช้จ่ายซื้อกระดาษแลของอื่น ๆ ซึ่งจะให้สอยในการตีพิมพ์ ก็ที่เรียกราคาปีละแปดบาทนั้นก็ยังไม่พอใช้สอยในการพิมพ์แต่จะกันผู้ที่มีมาขอไม่ให้ราคา แลจะให้เปนประโยชน์ในภายน่านั้นด้วย ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลราษฎรทั้งปวงที่มีปัญญาแสวงหาความชอบ แลความรอบรู้ในราชการแผ่นดินควรจะออเงินปีละแปดบาท รับซื้อหนังสือราชกิจจานุเบกษานี้ไว้ อ่านตรวจดูการต่าง ๆ เหตุต่าง ๆ ทั้งใกล้ทั้งไกลได้สมประสงค์ผู้ที่ได้รับหนังสือราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว จงถนอมรักษาไว้ เยบให้เปนเล่มสมุดเหมือนอย่างสมุดจีนสมุดฝรั่ง เวลาเมื่องประสงค์จะทราบเหตุการฤาราชกิจสิ่งไรที่มีอยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ก็จะได้ตรวจดูให้ทราบชัดในราชกิจ แลเหตุการนั้นโดยง่าย ถ้าผู้ใดประสงค์จะซื้อหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วขอเชิญมาที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง ลงชื่อแลบอกบ้านไว้เปนที่สังเกต ถ้าประสงค์จะให้ไปส่งถึงบ้านต้องเสียเงินอีกกึ่งตำลงรวมเป็นสองตำลึงกึ่ง….”

“ราชกิจจานุเบกษา” แต่ละฉบันหรือที่มีชื่อเป็นทางการว่า “ตอนที่” นั้น ตามปกติในแต่ละ “ตอนที่” จะมีทั้ง “แผนกกฤษฎีกา” และ “แผนกราชกิจจา” เรียงกันตามลำดับ การกำหนดเลขหน้าของทั้งสองแผนกไม่ใช้ร่วมกัน แต่แยกต่างหากจากกัน และจะเรียงเลขหน้าของตอนใหม่ต่อจากตอนก่อนไปเรื่อย ๆ จนครบปี (มกราคม – ธันวาคม) เว้นแต่ตอนที่เป็น “ตอนพิเศษ” หรือ “ฉบับพิเศษ” จะกำหนดเลขหน้าเริ่มหน้า 1 ใหม่ทุกตอน.

“ราชกิจจานุเบกษา” ทุกตอนจะมี “สารบาญ” ทำนองเดียวกับวารสารทั่ว ๆ ไปอยู่ด้วย และเมื่อครบปีหนึ่งจะมี “สารบาญ” รวมของภาค 1 แผนกกฤษฎีกาและแผนกราชกิจจา และของภาค 2 แผนกกฤษฎีกาและแผนกราชกิจจาทั้งนี้เพื่อให้รวบรวมเย็บเล่มราชกิจจานุเบกษาของแต่ละปีสามารถแยกออกเย็บเป็นแผนกกฤษฎีกาภาค 1 แผนกกฤษฎีกา ภาค2, แผนกราชกิจจา ภาค 1 และ แผนกราชกิจจาภาค 2 รวมเป็น 4 ตอนเล่มได้ ซึ่งจะทำให้ลักษณะรูปเล่มไม่ใหญ่โตเทอะทะจนเกินไป

เรื่องราวทางราชการที่พิมพ์อยู่ใน “แผนกกฤษฎีกา” ทั้งหมดจะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายหรือเสมือนกฎหมายได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องราวที่พิมพ์อยู่ใน “แผนกราชกิจจา” ก็จะเป็นเรื่องราวที่ทางราชการต้องการประกาศให้ประชาชนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทราบ หรือที่กฎหมายบัญญัติว่าต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อนจึงจะมีผลทางกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย ภาคชาติ,ภาคศาสนา และภาคมหากษัตริย์.

“แผนกกฤษฎีกา” ประกอบด้วย

    1. รัฐธรรมนูญ
    2. พระราชบัญญัติ
    3. พระราชกำหนด
    4. พระราชกฤษฎีกา
    5. กฎ ก.พ.
    6. กำสำนักนายกรัฐมนตรี
    7. กฎกระทรวง
    8. เทศบัญญัติ
    9. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
    10. ข้อบังคับ (สุขาภิบาล)
    11. ข้อบัญญัติ(จังหวัด,ตำบล)
    12. ประกาศพระบรมราชโองการ
    13. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
    14. ประกาศกระทรวงมหาดไทย
    15. ข้อกำหนด

สำหรับ 3 ข้อหลังนี้จะมีผลบังคับเสมือนกฎหมายได้ในบางกรณีเท่านั้น คือเฉพาะในกรณีที่พระราชบัญญัติให้อำนาจไว้.

“แผนกราชกิจจา”(บางครั้งเรียกว่า) “แผนกสามัญ” หรือ “แผนกราชกิจจานุเบกษา” ประกอบด้วยเรื่องราวอื่น ๆ นอกจากที่ลงพิมพ์ใน “แผนกกฤษฎีกา” ดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ประกอบด้วย

    1. ประกาศ (เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี, การไฟฟ้ายันฮี, สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นต้น)
    2. ข้อบังคับ (เช่น ข้อบังคับควบคุมการเดินเรือ เป็นต้น)
    3. คำสั่ง (เช่น คำสั่งกระทรวงมหาดไทย, คำสั่งกรมตำรวจ เป็นต้น)
    4. ระเบียบ (เช่นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น)
    5. รายงาน (เช่นรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น)
    6. แจ้งความ (เช่นแจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี,แจ้งความสภากาชไทยเป็นต้น)
    7. ข่าวในพระราชสำนัก
    8. หมายกำหนดการ
    9. แถลงการณ์
    10. บันทึกการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ
    11. บันทึกการประชุมสภาผู้แทน, วุฒิสภา และรัฐสภา.

การอ่านและค้นคว้าเรื่องราวใน “ราวกิจจานุเบกษา” ที่มีอยู่ในห้องสมุดหลายเล่มหลายตอนนั้น ผู้ใช้มักจะประสบกับความยุ่งยาก และยากลำบากทำนองเดียวกับการอ่านและค้นคว้าเรื่องราวในวารสารทั่ว ๆ ไป นอกจากห้องสมุดแห่งนั้นจะมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ดรรชนี” (Index) ควบคู่กัน ไปด้วยสำหรับดรรชนีราชกิจจานุเบกษา ในปัจจุบันได้มีสถาบันซึ่งส่วนมากเป็นหน่วยงานราชการอยู่ 2 –3 แห่งที่พยายามรวบรวมเรื่องราวในราชกิจจานุเบกษา หลาย ๆ ปีจัดทำดรรชนีเป็นเล่มเสียครั้งหนึ่ง แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องราวใน “แผนกกฤษฎีกา” และมักเป็นราชกิจจานุเบกษาที่ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีด้วย และ มีอยู่บางเล่มได้รวมถึง “ประชุมกฎหมายไทยด้วย”